วันอาทิตย์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

เครดิตภาษีเงินปันผล สิ่งที่คนเล่นหุ้นมักมองข้าม


เนื่องจากต้นปีที่ผ่านมา ผมได้ขอคืนภาษี และสิ่งที่ผมนึกไม่ถึงคือ การเครดิตภาษีปันผลนั้นสุดยอดมากๆ หลายๆ คนที่ผมรู้จักมักจะมองข้ามไป เนื่องจากเห็นว่าเป็นเงินก้อนเล็กๆ เช่น ได้ปันผลมา 3,000 แล้วโดนหักภาษีไว้ 300 บาท ก็เลยไม่ได้สนใจในส่วน 300บาทนั้นมากนัก ส่วนมากที่ผมเห็นก็เอาแค่ 2,700 ก็พอ แต่เดี๋ยวก่อน หลังจากที่ผมได้ทำภาษีและเห็นว่า จาก 300 บาท พอขอคืนมา มันกลายร่างเป็น 1300 บาท ได้แบบไม่ต้องเหนื่อยอะไร เห็นไหมครับว่าเป็นผลประโยชน์ที่ไม่ควรมองข้ามจริงๆ แต่การขอเครดิตภาษีปันผลนั้นจะต้องกรอก ภ.ง.ด 90 นะครับ การกรอกก็ไม่ได้ยุ่งยากอะไร ฉนั้นเรามาดูตัวอย่างการคำนวณเครดิตภาษีเงินปันผลแบบง่ายๆ ดีกว่าครับ

ผมมีหุ้นบริษัท SF อยู่ทั้งหมด 25,000 หุ้น
ได้รับปันผลมา 0.12 บาทต่อหุ้น
ดังนั้นปันผลของ SF ที่ผมได้มาจะเป็น 25,000 x 0.12 = 3,000
ได้รับจริง 2,700 เนื่องจากโดนหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ 300 บาท

มาดูกันครับว่าจาก 300 จะกลายเป็น 1,300 ได้ยังไง

การคำนวณแบบง่ายๆ เลยคือ ดูว่าบริษัทที่จ่ายปันผลเรานั้นเสียภาษีนิติบุคคลกี่เปอร์เซ็น

เสียภาษี 20% ได้อัตราส่วนเป็น 20/80 -> 1/4
เสียภาษี 25% ได้อัตราส่วนเป็น 25/75 -> 1/3
เสียภาษี 30% ได้อัตราส่วนเป็น 30/70 -> 3/7

ในตัวอย่าง บริษัท SF เสียภาษีนิติบุคคล 25% ดังนั้น
เราจะเอา 1/3 มาคำนวณโดยเอาเงินปันผลคูณ 1/3
นั่นก็คือ 3,000 x 1/3 = 1,000 บาท แล้วบวกด้วย ภาษี ณ ที่จ่ายที่เราโดนหักไว้ ก็จะเป็น 1,000 + 300 = 1,300 บาท

สรุปก็คือผมจะได้เงินคืนกลับมาจากสรรพากร 1,300 บาทนั่นเอง เห็นแล้วใช่ไหมครับว่ามันแปลงร่างได้

ไม่รู้ผมอธิบายรวบรัดไปหรือเปล่านะครับ แต่ถ้ายังงงๆ เนื่องจากคนอธิบายห่วย ลองดูอธิบายเพิ่มต่อข้างล่างได้ครับ

บริษัท SF จะเสียภาษีในอัตรา 25% ซึ่ง 25% นี้เป็นการเสียภาษีของกำไรสุทธิ ซึ่งส่วนที่เหลือหลังจากเสียภาษีแล้วก็คือเงินปันผลเรานั่นเอง

จะเห็นว่าเงินปันผลที่บริษัท SF จ่ายให้เรา 3000 บาท นั้น โดนหักเงินส่วนนึงเป็นภาษีที่ส่งสรรพากร
ไปแล้ว 25% ซึ่งภาษีที่หักไปตรงนี้ จะคำนวนได้ดังนี้ (3000 x 25)/75 = 1000

ดังนั้น เงินปันผลก่อนหักภาษีของบริษัท SF จะเท่ากับ 4000 บาท ซึ่งก็คือเงินปันผลที่เราควรจะได้นั่นเอง ส่วนสาเหตุว่าทำไมถึงต้องมาคำนวณย้อนกลับไปแบบนี้ก็เพราะว่า การเสียภาษีที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นเป็นการเสียภาษีของบริษัท SF ไม่ใช่การเสียภาษีของเรา ไม่อย่างนั้นก็จะเป็นการเสียภาษีซ้ำซ้อนกันนั่นเองครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น